วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

แนวทางการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น


การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น


    1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน
     2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย
     3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม
     4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
     5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ 
     6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
     7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
     8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ


วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่างภูมิปัญญาในด้านสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน


                   
   


          ด้ง คือ กระด้ง มีหลายชนิด ที่สำคัญมี ๒ อย่าง คือ กระด้งฝัดข้าวกับกระด้งมอน กระด้งฝัดข้าวสานด้วยไม้ไผ่รูปร่างกลมหรือกลมรีหัวเลี่ยม กระด้งนอกจากใช้ฝัดข้าว ร่อนข้าวแล้ว ยังใช้ตากอาหาร ตากปลา กุ้ง ตากสิ่งของต่างๆได้สารพัด แม้กระทั่งใช้เป็นที่นอนของเด็กอ่อนแรกเกิด ที่เรียกกระด้งมอนสานขึ้นจากไม้ไผ่เหมือนกัน ภาษาพื้นเมือง มอน แปลว่า กลม แปลว่า เฝ้าวนเวียนที่จะมาทำมิดีมิร้าย แล้วในที่นี้มีความหมายว่า กระด้งทรงกลม ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากระด้งฝัดข้าวมาก ใช้ฝัดข้าวไม่ได้จึงนิยมใช้งานอื่น เช่น ตากข้าว ตากอาหาร ตากยาสูบ พริก ฯลฯ และตากสิ่งของอื่นๆ โดยเฉพาะดังมีคำพังเพยว่า สานด้งใส่ข้าวเจาะน้ำเต้าใส่น้ำ เป็นต้น





เกี่ยว


          เกี่ยว หรือ เคียว ก็เรียกเป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับ กรูด แต่มีหางยาวกว่า ใบมีดก็มีลักษณะต่างกันเล็กน้อย เวลาเก็บเกี่ยวมือแทนที่จะจับตรงกลางเหมือนกรูด กลับจับส่วนปลายของด้ามสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้รวดเร็วทีละหลายๆ กอ นิยมใช้กันทาง ต.ท่างิ้ว อ.เมือง ต.อินคีรี ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช



เครื่องใช้ในครัว


          เครื่องใช้ในครัว นอกจากมีหม้อ มีกระทะ หลายชนิดและหลายรูปทรง เช่น เผล้ง (ใช้ใส่ข้าวสาร ใส่น้ำกิน) และเป็นเครื่องปั้นดินเผาตามแบบโบราณแล้วชาวปักษ์ใต้ยังมี สวดลักษณะใกล้เคียงกับ หวดในภาคกลาง คือ ลักษณะคล้ายเป็นหม้อ ๒ ใบ แฝดติดต่อกัน ตรงกลางจึงคอดกิ่ว ส่วนบนเรียก ตัวผู้ส่วนลูกล่างเรียก ตัวเมียตรงคอดกิ่วนั้นเองมีตะแกรงหรือ เพดานเจาะรูเล็กๆ หลายรูสำหรับให้ไอน้ำจากด่านล่างระเหยขึ้นมาได้ เพราะเป็นหม้อสำหรับนึ่งข้าวเหนียวและอื่นๆ
          จำพวก หวัก” (จวัก) ใช้ตักแกง แล่ง (ใช้ตวงข้าวสาร) ป้อย (ใช้ตวงข้าวสารใส่หม้อหุงข้าว) โหลก (กะโหลก) ใช้ใส่ของขนาดเล็กๆ จิปาถะ พรกเคย (ใช้ละลายกะปิ) พรกลอด (ทำขนมลอดช่อง) พรกลา (ทำขนมลา) ฯลฯ อุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้มักทำด้วยกะลามะพร้าว (พรก) เนื่องจากภาคใต้มีสวนมะพร้าวทั่วไปหาได้ง่ายไม่มีวันจบสิ้น และถือเป็นวัสดุประเภท สารพัดประโยชน์เลือกลูกแก่ๆ ขัดให้เป็นมันดำ มีการตกแต่งยิ่งเป็นลวดลายสวยงามน่าใช้และมีคุณภาพคงทนดี


  
เครื่องมือจับปลา
     

            เครื่องมือจับปลา มีมากหมายหลายอย่างทำด้วยไม้ไผ่เป็นหลัก เช่นสุ่ม (จับปลา) นาง (ชนาง ก็เรียกใช้ช้อนดักจับกุ้งปูปลาขนาดเล็ก) เชงเลง (ปากกว้างหางเรียวใช้ดักปลา) เจ้ย (ตะแกรง ใช้ตากกุ้งปลา ตากพริก ร่อนข้าวสาร) นั่งได้นอนได้ (หรือหญดก็เรียก คือ อีจู้ทั้งแบบตั้งและแบบนอนใช้ดักปลา) โลด เล่ (เครื่องดักปลาแบบให้ปลากระโดดขึ้นมาค้างบนรางร้าน) ส้อน (รูปร่างเล็กยาวคล้ายกระบอกกรวยใช้ดักกุ้งปลาขนาดเล็ก) ไซ (มีหลายแบบเช่น ไซลาว มีรูปร่างเล็กยาวใช้ดักกุ้ง ไซดักปลา ไซหัวหมู) รูปร่างของไซแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่ส่วนที่เหมือนกันคือมี งาอยู่ข้างในดังคำปริศนาคำทำนายที่ว่า ช้างตายในนางอกงาในพุง” ตะข้องหรือ “ข้องสำหรับขังปู ปลา กุ้ง หอย มีหลายชนิดและลางชนิดก็เรียกชื่อกับการใช้งานต่างออกไป เช่น จง หรือข้องจงมีขนาดเล็กทรงชะลูดปากเรียว (ใช้ใส่กุ้ง ปู ปลา) ข้อง (ทั่วไปใช้ใส่หอย ปู ปลา) ข้องไหล (ใช้ดักปลาไหล) ไซขังปลา (ไซทนก็เรียก) ข้องบา (คือตะข้องแบบมีบ่า ๒ ข้าง มักมีขนาดใหญ่ ใช้ใส่ปลา) ข้องนั่งได้ คืออีจู้นั่นเอง



ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว




ประวัติความเป็นมา 
            ก่อนปี พ.ศ. 2525 นายปลื้ม ชูคง ได้เริ่มงานหัตกรรม โดยได้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เครื่องมือเพื่อการเกษตร โดยนำไปขายตามหมู่บ้านและงานวัดทั่วไปพ.ศ.2525ได้เริ่มจัดทำผลิตภัณฑ์ กะลามะพร้าว โดยทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนไม่กี่ประเภท เช่น ทัพพี ตะหลิว ตะบวย จวัก พ.ศ.2526 หน่วยงานทางราชกาลหลายหน่วย ได้เข้ามาแนะนำส่งเสริมอุตสาหกรรม ในครัวเรือนนายปลื้ม ได้เป็นวิทยากรแนะนำให้ความรู้และชักจูงให้ประชาชนในหมู่เข้ามาร่วมมือสร้างผลงานหัตกรรม ผลิตภัณจากกะลามะพร้าวประชาชนเริ่มตื่นตัวและเล็งเห็นความสำคัญในงานอาชีพหัตกรรมกะลามะพร้าวเนื่องจากงานประเภทนี้ประชาชนเคยได้ทำใช้ในครัวเรือนมาก่อน พ.ศ.2528-2529 ได้รวมกลุ่มสมาชิก ฝึกทำผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว16คนปี2530 ขยายมากขึ้นเป็น 25 คนได้ร่วมกันผลิตส่งออกจำหน่าย มียอดขาดมาขึ้นกว่าปีก่อนๆ ปี 2531 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุงให้ความช่วยเหลือการจัดสรรเครื่องมือการผลิต ปี 2533 มีการจักส่งผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ มีการจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมมีคณะกรรมการดำเนินงานนายปลื้มเป็นประธาน และผู้ประสานงานติดต่อการค้าขาย ปัจุบันสมาชิกกลุ่มหัตกรรมเพิ่มขึ้นถึง200 กว่าคน จำนวน63 ครัวเรือน ได้ทำผลิตภัณจากกะลามะพร้าวออกจำหน่ายทั้งประเทศภายในประเทศแต่ละประเทศ 
กระบวนการ 
     1.การคัดเลือกกะลามะพร้าว ควรเลือกกะลามะพร้าวที่ทมีรูปทรง และสีผิว คล้ายหรือใกล้เคียงกัน  กับแบบมากที่สุดรูปทรงส่วนใหญ่ที่พบมีเพียง 2 แบบ คือ รูปทรงกลมกับรูปทรงรี
     2.การเตรียมกะลามะพร้าว คัลเลือกมะพร้าวที่มีกะลาหนารูปทรงเหมาะสม นำผลมะพร้าวมาปลอกเปลือกขูดผิดด้านนอกให้เรียบร้อน แล้วผ่าซีกผลกะลามะพร้าวแกะเนื้อมะพร้าวออกจากกะลา ตกแต่งสีด้านในด้านนอกให้เรียบร้อยตัดเป็นชิ้นงานตามรูปแบบที่ต้องการ
     3.การทำด้านผลิตภัณฑ์ ไม้ที่นำมาทำด้านติดกับตัวกะลา ควรเป็นไม้เนื้อแข่งปานกลาง และมีสีสันคล้ายกับตัวกะลา เช่น ไม้จากต้นมะพร้าว ประดู่ ไม้ขี้เหล็ก
     4.การประกอบชิ้นส่วน และการตกแต่งมีส่วนที่เป็นกลางกับส่วนที่เป็นด้าม 



ผลิตภัณฑ์กระจูด




ประวัติความเป็นมา 
          ในหมู่บ้านมีทุ่งกระจูด( ชื่อท้องถิ่น ) ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านได้นำมาสานเป็นเสื่อไว้ใช้เองและจำหน่ายแต่ทำในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่อมากลุ่มพัฒนาชุมชนได้รวมกลุ่มสมาชิกขึ้นและประสานงานกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาทำการสอนแปรรูป ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋า แบบต่างๆ ของใช้เบ็ดเตล็ด ที่รองแก้ว ที่รองจาน ตู้เสื้อผ้า แฟ้ม ฯลฯ 
กระบวนการผลิต 
          นำกระจูดตากแห้ง ย้อมสี เข้าเครื่องรีด จักรสานตามลายที่ต้องการแล้วนำมาตัดเย็บ ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี



ผลิตภัณฑ์จักสานใบเตย




ประวัติความเป็นมา 

       ต้นเตย เป็นต้นไม้ที่คนในชุมชนนิยมปลูกกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น มีปัญหาการว่างงานและบางส่วนว่างจากการประกอบอาชีพหลักจึงเกิดแนวคิดที่จะหารายได้เสริม โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น และเป็นงานฝีมือที่ใช้เส้นใยจากธรรมชาติ คือ ใบเตยหนาม หรือปาหนัน 

กระบวนการผลิต 
       การจักสานมใช้ใบเตยหนาม หรือปาหนัน จะนำมาจักสานเป็นของใช้ ของที่ระลึก รูปแบบต่างๆ  โดยการนำใบเตยมาตากแดด แล้วนำเข้าเครื่องจักตอกให้ได้ขนาดเส้นตามที่ต้องการ ถ้าต้องการย้อมสีก็สามารถทำได้ จากนั้นนำมาจักสานขึ้นรูปตามแบบที่ต้องการอย่างประณีต และสวยงาม เสร็จแล้วทาแลคเกอร์ชิ้นงานให้ขึ้นเงาและเป็นการป้องกันรา





ผ้าบาติกอันดามัน



ประวัติความเป็นมา
          ตำบลอ่าวนาง โดยเฉพาะบริเวณชุมชนบ้านคลองแห้งจะมีธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวบริเวณริมหาดอ่าวนาง และในช่วงฤดูท่องเที่ยวบริเวณริมหาดอ่าวนาง และในช่วงฤดูท่องเที่ยว ( ม.ค.-พ.ค.) จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและจากการสังเกตุของชาวบ้านโดยเฉพาะเยาวชน จะเห็นว่านักท่องเที่ยวมักชอบสวมใส่เสื้อผ้าสีสดใส ซึ่งผ้าบาติกก็มีสีสันแลสะลวดลายเหมาะกับบรรยากาศชายทะเล

          กลุ่มยุวเกษตรกรอันดามันเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม เยาวชนเหล่านี้มีความสนใจในเรื่องการเขียนผ้าบาติกจึงได้ประสานกับสสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเรียนรู้ในด้านนี้

          วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2539 ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งกลุ่มขึ้น โดยมีสมาชิกก่อตั้ง จำนวน 15 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 30 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 20 คน ปัจจุบันกลุ่มตั้งยู่ที่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ กลุ่มได้รับงบประมาณส่งเสริมอาชีพจากสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง เป็นเงินทั้งสิ้น 90,000 บาท มีการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่านเป็นที่ปรึกษา
กระบวนการผลสิต
      กลุ่มยุวเกษตรกรอันดามัน ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิอชอบในการช่วยกันทำผ้าบาติกออกเป็น 4 ฝ่าย คือ

  • ผ่ายจัดหาวัตถุดิบ มีหน้าที่จัดซื้อวัตถุดิบ คือ ผ้ามัสลิน ผ้าป่าน และผ้าไหม ที่จะนำมาทำผ้าบาติก
  • ฝ่ายควบคุมการผลิต มีหน้าที่ควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
  • ผ่ายการตลาด มีหน้าที่จัดหาตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
  • ผ่ายการเงินและบัญชี มีหน้าที่จัดทำบัญชีและควบคุมรายรับจ่ายของกลุ่ม
       การทำผ้าบาติกความยากง่ายขึ้นอยู่กับลวดลายบนพื้นผ้า แต่จะสวยงามมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และทักษะในการเขียนภาพของผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ แต้สำหรับลวดลายผ้าบาติกของกลุ่มยุวเกษตรกรอันดามัน จะเน้นความสวยงามของท้องทะเลและปะการังเป็นส่วนใหญ่ สำหรับขั้นตอนของการทำผ้าบาติกแบ่งเป็น 7 ขั้นตอน
1.      ขึงผ้าบนเฟรม
2.      เขียนลายลงบนผ้า
3.      เขียนเทียนตามลวดลายที่ลงไว้
4.      ย้อมสี
5.      เคลือบน้ำยา
6.      ล้างผ้า
7.      นำผ้าไปตาก แล้วรีดให้เรียบ














ที่มา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.--กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2548.

















ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้


ภูมิปัญญาในด้านสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน

สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน
       สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ บรรดามีที่คนพื้นบ้านพื้นเมืองภาคใต้ ใช้สอยตามวิถีชีวิตในพื้นถิ่น (Folklore or Folklife) ประจำวันนั้นมีมากเช่นเดียวกับคนในภูมิภาคอื่น แต่อาจจะมีรูปแบบแตกต่างกันบ้างตามอิทธิพลสิ่งแวดล้อม และวัตถุสิ่งของเหล่านั้นก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ชาวบ้านคิดทำขึ้นใช้เองด้วยฝีมือ ความเรียบง่าย ตามวัตถุประสงค์ ประโยชน์ใช้สอยอยู่บนพื้นฐานของอาชีพ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญา ลางอย่างก็มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเป็นศิลปะและความเป็นหัตถกรรม นอกจากนี้ยังมีการรับถ่ายทอดอิทธิพลระหว่างกันกับประชานในภูมิภาคอื่นด้วย ดังนั้นคุณค่าความงาม ความโดดเด่น นอกจากทักษะ/ฝีมือประสบการณ์ ลักษณะงานการใช้สอยแล้วยังขึ้นกับวัสดุพื้นถิ่นธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมเป็นองค์ประกอบด้วย
       ส่วนการอนุรักษ์ (Preservation) วัฒนธรรมพื้นบ้านประเพณี ก็ขึ้นกับองค์ประกอบปัจจัยหลายอย่าง เช่น วัสดุ รูปแบบ ประโยชน์ใช้สอย คุณค่า ความจำเป็น ฯลฯ จะพอใช้สอยเท้าเหยียบย่ำซ้ำรอยเดิมอยู่ร่ำไปคงไม่ได้ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนบ้างตามเหตุผล ความเหมาะสม แต่ส่วนที่เป็นสารัตถะหรือ แกนเอกลักษณ์อันเป็นหัวใจหลักของโครงสร้างจำเป็นต้องคงรูปรักษาไว้ คือ จิตวิญญาณลักษณะท่าทางของพื้นบ้านพื้นเมืองจะต้องแสดงให้เห็นได้ตลอดไป และควรจะได้ส่งเสริมให้พัฒนาเจริญเติบโตที่เน้นนวัตกรรม โดยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ออกมาให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
       เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นของพื้นบ้านที่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง หรือประชาชนพลเมืองทั่วไปใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่จะขอนำมากล่าวถึงนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อประกอบการศึกษาเปรียบเทียบเท่านั้น

ภูมิปัญญาชาวบ้าน


           ภูมิปัญญาชาวบ้าน  หมายถึง  ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ยาตายาย ญาติพี่น้อง หรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้านในท้องถิ่นต่างๆ ความรู้เหล่านี้สอนให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณ มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันข้าวของของตนให้แก่ผู้อื่น ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเป็นคนดี สอนให้คนเคารพธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ให้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคนที่ล่วงลับไปแล้ว ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลา การจับสัตว์ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า ทอเสื่อ การสานตะกร้าและเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ ด้วยหวาย การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องมือทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังมีศิลปะดนตรี การฟ้อนรำ และการละเล่นต่าง ๆ การรักษาโรคด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวด เป็นต้น
    ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดมาให้เรา มีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ความรู้เหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย คือ
          การอนุรักษ์ คือ การรักษาความรู้ที่ดีงาม เช่น ประเพณีต่าง ๆ หัตกรรม และคุณค่าหรือการปฏิบัติตนเพื่อความสัมพันธ์อันดีกับคนและสิ่งแวดล้อม
          การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นความรู้ที่ดีงามต่าง ๆ ที่สูญหายไป เลิกไป หรือเปลี่ยนไปให้กลับมาเพื่อยังประโยชน์ให้ผู้คนสมัยนี้ เช่น การฟื้นฟูดนตรีไทย การฟื้นการเกษตรผสมผสาน ซึ่งปู่ย่าตายายเคยทำมาก่อน การฟื้นประเพณีการผูกเสี่ยว 

          การประยุกต์ คือ การปรับความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์การบวชมาเป็นการบวชต้นไม้ เพื่อให้เกิดสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาป่ามากยิ่งขึ้น การประยุกต์ประเพณีการทำบุญข้าวเปลือกที่วัด มาเป็นการสร้างธนาคารข้าว เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน การประยุกต์ดนตรีไทยกับดนตรีสมัยใหม่ หรือการร้องรำต่าง ๆ
          
           การสร้างใหม่ คือ การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่สัมพันธ์กับความรู้ดั้งเดิม เช่น การประดิษฐ์โปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในภาคอีสาน มีลักษณะคล้ายกับระนาดแต่แตกต่างทั้งรูปแบบและเสียง การคิดโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยอาศัยคุณค่าความเอื้ออาทรที่ชาวบ้านเคยมีต่อกัน มาหารูปแบบใหม่ เช่น การสร้างธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ การรวมกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
          ภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในวิถีดั้งเดิมนั้น ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากแต่ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันการทำมาหากิน การอยู่ร่วมกันในชุมชน การปฏิบัติศาสนา พิธีกรรมและประเพณี
          ความรู้เป็นคุณธรรม เมื่อผู้คนใช้ความรู้นั้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
          ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสมดุล ที่เคารพกันและกัน ไม่ทำร้ายทำลายกัน ทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติชุมชนดั้งเดิมจึงมีกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน มีคนเฒ่าคนแก่ เป็นผู้นำ คอยให้คำแนะนำตักเตือน ตัดสิน และลงโทษหากมีการละเมิด ชาวบ้านเคารพธรรมชาติรอบตัว ดิน น้ำ ป่า เขา ข้าว แดด ลม ฝน โลก และจักรวาล ชาวบ้านเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
          ภูมิปัญญาจึงเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม เป็นความรู้ที่มีเอกภาพของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างมีความสมดุล เราจึงยกย่องความรู้ขั้นสูงส่งอันเป็นความรู้แจ้งในความจริงแห่งชีวิตนี้ว่าภูมิปัญญา